วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ขั้นที่ 1 ในการเตรียมการเพาะไรแดง


การเพาะไรแดง



ไรแดง เป็นอาหารธรรมชาติที่ดีสำหรับการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทั้งปลาสวยงามและปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลา ปอมปาดัวร์ ปลากัด กุ้งก้ามกราม ปลากะพง ปลาบึก ปลาเทโพ และปลาดุกอุย เป็นต้น ในอดีตไรแดงส่วนใหญ่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำโสโครกตามบ้านเรือน โรงฆ่าสัตว์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณไม่แน่นอน ปัจจุบันไรแดงจากธรรมชาติมีปริมาณลดลงเพราะสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เปลี่ยนไปในขณะที่ความต้องการไรแดงกลับเพิ่มขึ้น ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนไรแดงในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงได้ศึกษาวิจัยและประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงไรแดง ซึ่งเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนไรแดง และช่วยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงไรแดง และการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
การเพิ่มผลผลิตของไรแดงในบ่อนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการพลังงานจากแสงแดดเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ที่ทำให้ขบวนการต่าง ๆ ในภาพดำเนินไปด้วยดี ปุ๋ยและอาหารต่าง ๆ จะถูกย่อยสลายโดยบักเตรี ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการแพร่ขยายของน้ำเขียว อีกทั้งยังทำให้เกิดขบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งจะใช้ของเสียต่างๆ จำพวกแอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ และอื่น ๆที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ทำให้คุณสมบัติของน้ำดีขึ้น การหมุนเวียนของน้ำจะเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อไรแดง การเพิ่มปริมาณน้ำเขียวมากขึ้น และการใส่ยีสต์ก็สามารถช่วยในการเพิ่มผลผลิตของไรแดงได้อย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน
ไรแดง เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดังนั้นการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนด้วยไรแดงจึงทำให้อัตราอดและอัตราการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนสูงมาก ไรแดงน้ำหนักแห้งประกอบด้วยโปรตีน 74.09 เปอร์เซ็นต์ คาร์ดบไฮเดรต 12.50 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 10.19 เปอร์เซ็นต์ และเถ้า 3.47 เปอร์เซ็นต์ (สันทนา, 2529)
ไรแดง เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้ง หรือที่เรียกว่า crustacean มีชื่อวิทยาศาสตร์ Moina macrocopa และมีชื่อสามัญว่า Water flea เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดหนึ่งมีขนาด 0.4-1.8 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีแดงเรื่อ ๆ ถ้าอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากจะมองเห็นไรแดงมีสีแดงเข้มไรแดงเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ลำตัวอ้วนเกือบกลมมีขนาดเฉลี่ย 1.3 มิลลิเมตร ส่วนเพศผู้ตัวเล็กและค่อนข้างยาวกว่า มีขนาดเฉลี่ย 0.5 มิลลิเมตร ตัวอ่อนที่ออกมาจากถุงไข่ของแม่ใหม่ ๆ จะมีขนาด 0.22-0.35 มิลลิเมตร มีสีจางกว่าตัวเต็มวัย ในสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ไรแดงจะมีประชากรเพศผู้ 5 เปอร์เซ็นต์ เพศเมีย 95 เปอร์เซ็นต์
ไรแดง มีการสืบพันธุ์ 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 เป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ไรแดงเพศเมียจะไข่แล้วฟักเป็นตัวโดยไม่ต้องผสมกับไรแดงเพศผู้ โดยปกติไรแดงจะมีอายุระหว่าง 4-6 วัน แพร่พันธุ์ได้ 1-5 ครั้ง หรือเฉลี่ย 3 ครั้ง ๆ ละ 19-23 ตัว ทั้งนี้ สภาวะแวดล้อมจะต้องเหมาะสม


แบบที่ 2 เป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ในสภาวะแวดล้อมที่ผิดปกติ เช่น อุณหภูมิหรือต่ำเกินไป ความเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสมหรือขาดแคลนอาหาร ไรแดงจะเพิ่มปริมาณเพศผู้มากขึ้นแล้วไรแดงเพศเมียจะสร้างไข่ขึ้นอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะต้องได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้แล้วสร้างเปลือกหุ้มหนา แม่ 1 ตัว จะให้ไข่ชนิดนี้ 2 ฟอง หลังจากนั้นตัวเมียก็จะตาย เนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั้น ไข่จะถูกทิ้งให้อยู่ก้นบ่อหรือก้นแหล่งน้ำนั้น ไข่เปลือกแข็งนี้สามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้นาน และจะฟักออกเป็นตัวเมื่อสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้นและมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น